ภาวะโลหิตจาง คืออะไร สาเหตุ และการป้องกัน

หากร่างกายมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตัวซีด อาการเหล่านี้บ่งบอกได้ว่าคุณอาจมีภาวะโลหิตจาง เมื่อมีอาการดังกล่าวไม่ควรชะล่าใจ คุณควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกายให้แน่ชัด

ภาวะโลหิตจาง คืออะไร?

ภาวะโลหิตจาง คือ ภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงในร่างกายน้อยกว่าปกติ สามารถที่จะพบได้ในประชากรทั่วไป หน้าที่ของเม็ดเลือดแดงจะนำพาออกซิเจนไปให้เนื้อเยื่อและเซลล์ต่างๆในร่างกาย หากร่างกายมีเม็ดเลือดแดงที่ลดลงก็จะส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติกับร่างกายขึ้นได้ โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย หรืออาจจะมีอาการวูบจนหมดสติ หากเป็นโลหิตจางอย่างรุนแรงก็จะส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบหัวใจ ส่งผลทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจนทำให้หัวใจล้มเหลวลงได้ สำหรับอาการต่างๆที่เกิดขึ้นกับร่างกาย อาจมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละคนที่จะสามารถปรับตัวต่อภาวะเลือดจางได้

สาเหตุของภาวะโลหิตจาง

สำหรับสาเหตุของการเกิดภาวะโลหิตจางนั้นแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ร่างกายสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง โดยมีปัจจัยมาจาก

  • ร่างกายได้รับสารอาหารที่ไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะสารอาหารที่มีความจำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 และกรดโฟลิก
  • โรคเรื้อรังที่เป็นอยู่ อาจส่งผลทำให้การสร้างเม็ดเลือดแดงลดลงได้ เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน โรคข้ออักเสบ เป็นต้น
  • โรคที่มีความเกี่ยวข้องกับไขกระดูก เช่น มะเร็งในไขกระดูก ไขกระดูกฝ่อ เป็นต้น

ในร่างกายมีการทำลายเม็ดเลือดแดงมากกว่าปกติ ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

  • โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของตัวเองไปทำลายเม็ดเลือดแดงภายในร่างกาย ส่วนมากจะพบได้ในหญิงวัยเจริญพันธุ์
  • โรคเม็ดเลือดแดงแตกง่ายซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดเอนไซม์ G-6PD เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ส่วนมากจะพบในเพศชาย หากได้รับยาบางชนิดหรือมีการติดเชื้อ ก็จะส่งผลทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายขึ้น
  • โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ป่วยจะมีอาการที่หลากหลาย เช่น อาจมีโลหิตจางเมื่อเป็นไข้ หรือบางรายอาจมีโลหิตจางร่วมกับตับม้ามโต เป็นต้น

เกิดจากการสูญเสียเลือด

สำหรับการสูญเสียเลือดนั้นเกิดได้จากหลายกรณี เช่น ภาวะตกเลือดหลังคลอด เสียเลือดเรื้อรังจากการมีประจำเดือน เสียเลือดจากการเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น

การรักษา

สำหรับการรักษานั้นแพทย์จะดูว่าผู้ป่วยในแต่ละรายมีอาการรุนแรงมากน้อยแค่ไหน จะมีตั้งแต่การให้เลือดทดแทน หรือบางรายที่อาการค่อนข้างรุนแรงแพทย์จะให้ออกซิเจน โดยอาจพิจารณาให้ผู้ป่วยนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาล และในรายที่อาการไม่รุนแรง แพทย์อาจให้ยาบำรุงโลหิตมารับประทานเพื่อให้เลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น แต่บางครั้งภาวะเลือดจางก็มีสาเหตุจากโรคที่เป็นอยู่ ดังนั้นก็ควรที่จะตรวจหาโรคให้แน่ชัด เพื่อให้การรักษาได้ผลดียิ่งขึ้น

การป้องกันภาวะโลหิตจาง

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็ก เช่น ไข่ เนื้อสัตว์ ตับ เลือดหมู ธัญพืช ผักใบเขียวเข้ม เป็นต้น
  • ในแต่ละวันควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยประมาณ 1.5 ลิตรต่อวัน
  • หากคนในครอบครัวเคยเป็นภาวะโลหิตจาง ควรที่จะปรึกษาแพทย์ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงในการส่งต่อทางพันธุกรรม

การทำให้ร่างกายแข็งแรงเป็นสิ่งที่สำคัญ ทำได้ด้วยการออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่หลากหลายรวมถึงรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กด้วย เพื่อเป็นการป้องกันภาวะเลือดจางที่อาจเกิดขึ้นกับเราได้